Search

สกู๊ปพิเศษ : "โควิด-19" และ 1 ปีกีฬาที่ลืมไม่ลง - มติชน

สกู๊ปพิเศษ : “โควิด-19” และ 1 ปีกีฬาที่ลืมไม่ลง

นับเป็นหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์ของวงการกีฬาโลกอย่างแท้จริง สำหรับปี 2020 ซึ่งสถานการณ์การระบาดของไวรัส โควิด-19 ส่งผลกระทบไปทั่วโลกและทุกวงการอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

การแพร่ระบาดของไวรัสที่คร่าชีวิตชาวโลกไปแล้วกว่า 1.7 ล้านคน และมีผู้ติดเชื้อสะสมแล้วกว่า 80 ล้านราย นำไปสู่สถานการณ์ “ล็อกดาวน์” แทบจะทุกพื้นที่ของโลก

ข้อจำกัดเรื่องการเดินทาง และมาตรการคุมเข้มในด้านต่างๆ ทำให้การแข่งขันกีฬารายการใหญ่ของโลกถึง 2 รายการต้องเลื่อนการแข่งขันออกไป

หนึ่งคือมหกรรมกีฬา โอลิมปิกเกมส์ 2020 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเดิมกำหนดจัดการแข่งขันระหว่างวันที่ 24 กรกฎาคม-9 สิงหาคม 2020 ได้เลื่อนไปเป็น 23 กรกฎาคม-8 สิงหาคม 2021 แทน

นับเป็นครั้งแรกที่มหกรรมกีฬาของมวลมนุษยชาติต้องเลื่อนออกไปด้วยสาเหตุที่ไม่ใช่เพราะสงคราม

โอลิมปิกเกมส์ต้องเลื่อนการแข่งขัน

เดิมนั้นทั้งคณะกรรมการจัดการแข่งขันของญี่ปุ่น และ คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (ไอโอซี) พยายามจะยื้อจนถึงที่สุดก่อนประกาศเลื่อนแข่ง เนื่องด้วยหากไม่สามารถจัดการแข่งขันได้ตามกำหนดเวลาที่วางไว้ ย่อมหมายถึงการต้องสูญเสียงบประมาณมหาศาล ทั้งการบำรุงรักษาและเช่าสถานที่ การยืดระยะเวลาดำเนินโครงการนำสถานที่ต่างๆ ไปใช้ประโยชน์หลังการแข่งขัน รวมถึงการพลาดโอกาสในการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงการแข่งขัน

นักเศรษฐศาสตร์ประเมินว่า การเลื่อนการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ออกไป คิดเป็นมูลค่าความเสียหายสำหรับเจ้าภาพถึง 640.8 ล้านเยน (185.8 ล้านบาท) และถ้าสถานการณ์เลวร้ายถึงที่สุด ถึงขั้นต้องยกเลิกการแข่งขัน ก็จะทำให้ญี่ปุ่นเสียหายถึง 4.52 ล้านล้านเยน (1.3 ล้านล้านบาท) เลยทีเดียว

อีกหนึ่งการแข่งขันที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากโควิดจนต้องเลื่อนออกไปเช่นกัน คือศึกฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป หรือ ยูโร 2020 ซึ่งเลื่อนจากวันที่ 12 มิถุนายน-12 กรกฎาคม 2020 เป็น 11 มิถุนายน-11 กรกฎาคม 2020 แทน

หากสถานการณ์โรคระบาดในปีหน้ายังไม่คลี่คลาย ก็อาจส่งผลกระทบในแง่เจ้าภาพการแข่งขัน เพราะเดิมที สหพันธ์ฟุตบอลยุโรป (ยูฟ่า) กำหนดให้ศึกยูโรครั้งนี้เป็นวาระครบรอบ 60 ปีของทัวร์นาเมนต์ จึงคิดโปรเจกต์ให้เวียนจัดตามเมืองใหญ่ๆ ทั่วยุโรปรวม 12 เมือง 12 ประเทศ

แต่ถ้ายังคุมโควิดไม่อยู่ ก็อาจจำเป็นต้องลดจำนวนเมืองเจ้าภาพลง และเน้นให้อยู่ในละแวกใกล้เคียงกัน เพื่อลดความเสี่ยงเรื่องการแพร่ระบาดแทน

นอกจาก 2 กีฬารายการใหญ่ที่ต้องเลื่อนออกไปแล้ว การแข่งขันทั้งระดับลีกและทัวร์นาเมนต์ประจำปีของแต่ละชนิดกีฬาต่างก็ได้รับผลกระทบถ้วนหน้ากัน โดยกีฬาอาชีพส่วนใหญ่จะเริ่มหยุดการแข่งขันระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม และเริ่มกลับมาแข่งขันอีกครั้งราวกลางๆ ปี ในเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม โดยยึดหลักปฏิบัติแบบ “นิว นอร์มอล”

อัฒจันทร์ว่างเปล่ากลายเป็นภาพที่ชินตา

หลักปฏิบัติที่ว่าคือการปิดสนามแข่งขัน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดจากการรวมตัวของคนหมู่มาก ขณะที่นักกีฬา สต๊าฟโค้ช และเจ้าหน้าที่ ต้องสวมหน้ากากสม่ำเสมอ ในช่วงที่ไม่ได้ฝึกซ้อมหรือแข่งขัน รวมถึงหลีกเลี่ยงการรวมตัวเป็นกลุ่มใหญ่

บางกีฬาเช่น ลีกบาสเกตบอล เอ็นบีเอ ต้องเลี่ยงปัญหาการเดินทาง ด้วยการเลือกดิสนีย์ รีสอร์ต ในเมืองออร์แลนโด เป็น “บับเบิล” หรือพื้นที่ควบคุม ให้นักกีฬาและสต๊าฟของแต่ละทีมไปรวมตัวแข่งขันที่เดียวจนปิดฤดูกาลได้

ส่วนลีกลูกหนังเกือบทั่วโลกต่างก็ต้องหยุดชะงักไป บางลีก อาทิ เอเรดิวิซี่ ของเนเธอร์แลนด์, ลีกเอิง ของฝรั่งเศส ต่างตัดสินใจตัดจบการแข่งขัน และมอบแชมป์ให้ทีมที่มีผลงานดีที่สุดไปเลย

ขณะที่ลีกใหญ่อื่นๆ ตัดสินใจเดินหน้าแข่งขันต่อแบบปิดสนามเตะ ซึ่งทั้งช่วงที่พักการแข่งขัน และช่วงกลับมาแข่งต่อ แต่ละลีก แต่ละทีม ล้วนสูญเสียรายได้มากน้อยแตกต่างกันไป เพราะไม่สามารถขายบัตรชมการแข่งขันได้ ขณะเดียวกันก็ต้องแบกค่าใช้จ่ายจำนวนมาก โดยเฉพาะค่าเหนื่อยนักเตะ และค่าจ้างเจ้าหน้าที่ทุกระดับ ทำให้นักเตะหลายทีมต้องยอมลดค่าเหนื่อยของตัวเองลงบางส่วนเพื่อแบ่งเบาภาระของสโมสร

เอ็นบีเอประกาศเตือนเรื่องโควิด

ด้านกีฬาอาชีพประเภทบุคคลต่างก็เลื่อนและยกเลิกการแข่งขันไปหลายรายการ ที่เด่นๆ คือ ศึกเทนนิสแกรนด์สแลมคอร์ตหญ้า วิมเบิลดัน ที่ออลอิงแลนด์คลับ ประเทศอังกฤษ ซึ่งโดยปกติจะจัดแข่งราวเดือนมิถุนายน แต่มาปีนี้ต้องยกเลิกการแข่งขันไปโดยปริยาย เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่สงครามโลก ครั้งที่ 2

ส่วนแกรนด์สแลมอื่นๆ ก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน ออสเตรเลียน โอเพ่น โชคดี แข่งในเดือนมกราคมก่อนการระบาดหนักจึงไม่มีผลใดๆ ส่วนศึก ยูเอส โอเพ่น ต้องปิดสนามแข่งเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การแข่งขันระดับแกรนด์สแลม ขณะที่ เฟร้นช์ โอเพ่น เลื่อนจากปลายเดือนพฤษภาคมเป็นปลายกันยายน หลังจบศึกยูเอส โอเพ่น

ด้านกีฬากอล์ฟก็เลื่อนและยกเลิกการแข่งขันไปหลายรายการ ที่เด่นๆ คือ ศึกเมเจอร์ชาย ดิ โอเพ่น และเมเจอร์หญิง ดิ เอวิยอง มาสเตอร์ส ที่ต่างต้องยกเลิกการแข่งขัน ส่วนเมเจอร์แรกของฝ่ายชาย เดอะ มาสเตอร์ส ที่สนามออกัสต้า จากปกติแข่งกันในเดือนเมษายน ก็ต้องขยับไปแข่งในเดือนพฤศจิกายนแทน

ส่วนกีฬามอเตอร์สปอร์ต โดยเฉพาะรายการใหญ่อย่าง ฟอร์มูล่าวัน และ โมโตจีพี ต้องลดโปรแกรมแข่งขันลง ให้เหลือสนามแข่งในยุโรปเป็นหลัก เพื่อหลีกเลี่ยงการเดินทางไกล

นอกเหนือจากผลกระทบในแง่การจัดการแข่งขันแล้ว นักกีฬาหลายวงการต่างก็ติดเชื้อโควิดกันจำนวนมาก

ทั้งแข้งซุปเปอร์สตาร์อย่าง คริสเตียโน่ โรนัลโด้, เนย์มาร์, ปอล ป๊อกบา, ซลาตัน อิบราฮิโมวิช ทั้งโปรกอล์ฟมือ 1 ของโลก ดัสติน จอห์นสัน ทั้งแชมป์โลกฟอร์มูล่าวัน 7 สมัย ลูอิส แฮมิลตัน

โนวัก โยโควิช ได้รับบทเรียนราคาแพง

แต่ที่เกิดประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ที่สุดคงต้องยกให้ โนวัก โยโควิช นักเทนนิสมือ 1 ของโลกชาวเซอร์เบีย ซึ่งเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันเทนนิส “อาเดรียทัวร์” ที่เซอร์เบียและโครเอเชีย เชิญนักหวดชั้นนำของโลกเข้าร่วมหลายคน

โนเล่มีเจตนาดี หวังสร้างขวัญและกำลังใจให้ทั้งเพื่อนนักหวดและแฟนๆ ในสถานการณ์ที่ตึงเครียดจากโรคระบาด รวมถึงให้เป็นรายการอุ่นเครื่องรอการแข่งขันจริงกลับมาอีกครั้ง

แต่ในทางปฏิบัติกลายเป็นปัญหาใหญ่ เพราะอาเดรียทัวร์ไม่ได้ยึดหลัก “เว้นระยะทางสังคม” หรือมาตรการป้องกันใดๆ เพราะทั้งนักกีฬา เจ้าหน้าที่ และแฟนๆ ไม่มีใครสวมหน้ากาก อัฒจันทร์ก็เปิดให้แฟนๆ เข้าไปนั่งติดกันได้เต็มที่ ซ้ำร้ายยังมีคลิปหลุดจากการปาร์ตี้ของนักกีฬา ซึ่งต่างคนต่างสนุกกันสุดเหวี่ยงในพื้นที่แคบๆ ของไนต์คลับแห่งหนึ่ง

สุดท้ายกลายเป็นว่ามีนักเทนนิสหลายคนติดเชื้อโควิดจากทัวร์นาเมนต์นี้ ซึ่งรวมถึงตัวโนเล่เอง และโค้ชส่วนตัว โกรัน อิวานิเซวิช จนต้องยกเลิกโปรแกรมแข่งขันที่เหลือ และเจ้าตัวออกแถลงการณ์ขอโทษในเวลาต่อมา

และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็กลายเป็นบทเรียนครั้งสำคัญให้วงการกีฬาตระหนักว่า ไม่ควรประมาทกับสถานการณ์โรคระบาดที่ทั่วโลกกำลังเผชิญ

Let's block ads! (Why?)

อ่านบทความและอื่น ๆ ( สกู๊ปพิเศษ : "โควิด-19" และ 1 ปีกีฬาที่ลืมไม่ลง - มติชน )
https://ift.tt/34VxdF3
กีฬา

Bagikan Berita Ini

0 Response to "สกู๊ปพิเศษ : "โควิด-19" และ 1 ปีกีฬาที่ลืมไม่ลง - มติชน"

Post a Comment

Powered by Blogger.