แบงก์ตั้งการ์ดรับมือหนี้เสียเร่งตั้งสำรองหนี้สูญ-ตัดขายรักษาคุณภาพพอร์ต ธปท.เผยเอ็นพีแอล ไตรมาสแรกแตะ 5.37 แสนล้าน จับสัญญาณ “ยึดบ้าน-ยึดรถ” เพิ่มจากเศรษฐกิจชะลอเช่าซื้อเปิดตัวเลข “ยึดรถ” เพิ่มขึ้นตั้งแต่ต้นปี “BAM” ชี้ตลาด NPA ฝืดแบงก์แตะเบรกตัดขายพอร์ตหนี้เสีย หลังโดนกดราคาหนัก
แบงก์กัดฟันกรอด “หนี้เสีย”
นายบัณฑิต อนันตมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ หรือ BAM เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุริกจ” ว่า สถานการณ์การตัดขายหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของธนาคารตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน พบว่า มีปริมาณกิจกรรมการตัดขายหนี้ไม่ได้เยอะมากเมื่อเทียบกับช่วงปกติ ส่วนหนึ่งมาจากที่ผ่านมา ธนาคารต่าง ๆ รอดูมาตรการช่วยเหลือของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทำให้ชะลอการตัดขายหนี้ นอกจากนี้ พบว่ามีหลายครั้งที่ธนาคารยกเลิกการขาย ซึ่งเป็นผลมาจากราคาประมูลที่ค่อนข้างต่ำ ทำให้ธนาคารต้องยกเลิกการขายหนี้ อย่างไรก็ดี มองว่าหากมาตรการผ่อนปรนของ ธปท.หมดลงจะเห็นกิจกรรมการตัดขายหนี้กลับมาเพิ่มขึ้น
“ที่ผ่านมาแบงก์ชะลอการขายหนี้ เพื่อรอดูมาตรการแบงก์ชาติ ทั้งสินเชื่อฟื้นฟูและพักทรัพย์ พักหนี้ จากปกติแบงก์จะตัดขายหนี้เสียเฉลี่ยปีละประมาณ 5-7 หมื่นล้านบาท และยกเลิกการขายบางพอร์ต เพราะได้ราคาต่ำเกินไป เช่น ตัดขาย 3,000 ล้านบาท และซอยย่อยขายกองละ 200-500 ล้านบาท หากกองไหนราคาที่แบงก์ไม่แฮปปี้ก็ยกเลิกการขาย มีให้เห็นมากขึ้น”
ตลาดฝืด-ถูกกดราคา
สำหรับ BAM ตั้งเป้ารับซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (non-performing asset : NPA) มาบริหารในปีนี้ประมาณ 9,000 ล้านบาท โดยผ่านมา 4-5 เดือน สามารถซื้อหนี้ได้ไม่ถึง 1,000 ล้านบาท ถือว่าน้อยมาก เนื่องจากบริษัทเน้นซื้อในราคาที่เหมาะสมและสอดคล้องกับสิ่งที่ต้องการ เพราะถ้ารับซื้อหมดทรัพย์จะมากองไว้ สร้างภาระต้นทุนให้บริษัท และเน้นขายหนี้เก่าและประนอมลูกค้าเก่าก่อน เนื่องจากสถานการณ์ตอนนี้ไม่เอื้อต่อการรับซื้อทรัพย์จำนวนมาก เพราะโอกาสการขายออกก็ยาก อย่างไรก็ตาม ภายในสิ้นเดือน มิ.ย.นี้ บริษัทจะมีการรับซื้อหนี้ดีลใหญ่มูลค่า 1 หมื่นล้านบาท
แหล่งข่าวจากบริษัทบริหารสินทรัพย์กล่าวในทิศทางเดียวกันว่า ในปีนี้กลุ่มธนาคารพาณิชย์ใหญ่ไม่ว่าจะเป็นธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารกรุงศรีอยุธยา มีการตัดขายหนี้ออกมาให้บริษัทบริหารสินทรัพย์น้อยมาก เป็นเพราะภาวะราคาประมูลขาย NPA ถูกกดราคาต่ำ ทำให้แบงก์ตัดสินใจเก็บไว้ก่อน ขณะที่ธนาคารทีเอ็มบี-ธนชาต มีการตัดขายหนี้ออกมาในจำนวนมาก ส่วนหนึ่งมาจากการควบรวมธนาคาร ด้านธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย และกรุงไทย กลุ่มนี้มีการทยอยขายหนี้เสียออกมาบ้าง
โดยล่าสุดที่กำลังจะออกมาประมูลขายเร็ว ๆ นี้ เป็นของธนาคารทีเอ็มบี-ธนชาต วงเงินราว 2,000 ล้านบาท เป็นหนี้ประเภทกลุ่มเอสเอ็มอี ธุรกิจขนาดเล็ก และรายย่อย โดยจะแบ่งขายเป็นพอร์ตย่อย ๆ ซึ่งโดยปกติธนาคารจะมีประมูลขายกันทุกเดือน
จับสัญญาณ “ยึดรถ-ยึดบ้าน”
นายเอกสิทธิ์ พฤฒิพลากร ผู้บริหารผลิตภัณฑ์ธุรกิจรายย่อย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การบริหารจัดการพอร์ตหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) ของธนาคารมี 2 ส่วน คือ บริหารจัดการเอง และตัดขายให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) อย่างไรก็ดี การพิจารณาการตัดขายจะดูตามจังหวะและโอกาส เนื่องจากหากในช่วงที่มีการเทขายเอ็นพีแอลออกมาในตลาดจำนวนมาก จะทำให้ถูกกดราคาต่ำ ขณะเดียวกัน หากเอ็นพีแอลอยู่ในระดับสูงและเกินกว่าที่ธนาคารจะบริหารจัดการ ธนาคารก็จำเป็นต้องตัดขาย เพื่อบริหารงบดุลให้ดูแข็งแรง
สำหรับสถานการณ์การฟ้องร้องยึดทรัพย์สินของลูกค้า ทั้งในส่วนของที่อยู่อาศัย รถยนต์ มีสัญญาณเพิ่มขึ้น ตามภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ซึ่งไม่ได้เป็นการเพิ่มขึ้นจนมีนัยสำคัญหรือยึดทรัพย์กันจำนวนมาก ส่วนหนึ่งมาจากมาตรการของ ธปท.ที่คาดว่าเห็นสัญญาณจึงออกมาตรการมาช่วย และชะลอไม่ให้เกิดการยึดทรัพย์จำนวนมาก
อย่างไรก็ดี การเร่งรัดฟ้องร้องยึดทรัพย์จะเกิดขึ้นได้ 3 กรณี คือ 1.เกิดการทุจริต 2.ลูกหนี้ถูกฟ้องร้องจากเจ้าหนี้รายอื่น เช่น ลูกหนี้มีหนี้หลายธนาคาร ซึ่งมีบ้านเป็นหลักประกันจึงต้องเฉลี่ยทรัพย์กัน และ 3.ติดต่อลูกหนี้ไม่ได้
“ตอนนี้มองว่ายังไม่ถึงจุดวิกฤตที่เห็นการยึดบ้านและยึดรถที่มากขึ้นผิดปกติ ต้องยอมรับว่ามาตรการ ธปท.ช่วยได้พอสมควร ไม่เช่นนั้นจะเห็นยึดระนาวแน่นอน ซึ่งเชื่อว่า ธปท.คงเห็นสัญญาณจึงออกเครื่องมือและมาตรการต่าง ๆ มาช่วยลดภาระหนี้ แต่ก็ยังคงต้องติดตามหนี้ครัวเรือนหากแตะ 100% จะเป็นจุดที่น่ากลัว”
เช่าซื้อยอมรับ “ยึดรถ” เพิ่ม
ด้านนายวิสิทธิ์ พึ่งพรสวรรค์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีไอเอ็มบี ไทย ออโต้ และในฐานะประธานสมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพรวมการปล่อยสินเชื่อรถยนต์ใช้แล้วยังคงมีการแข่งขันกันต่อเนื่อง โดยเฉพาะลูกค้ากลุ่มที่มีศักยภาพและประวัติการชำระหนี้ที่ดี จะมีการเสนอโปรโมชั่นแข่งขันกัน เช่น ดาวน์ 0% เป็นต้น อย่างไรก็ดี ภายใต้การระบาดโควิด-19 ระลอก 3 นโยบายการปล่อยสินเชื่อหลังจากนี้คาดว่าจะกลับมาเข้มงวดอีกครั้ง
ขณะที่สถานการณ์รถยึด ยอมรับว่ามีทิศทางเพิ่มขึ้นนับตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยสัดส่วนจากอดีตอยู่ที่ระดับ 10-15% เพิ่มเป็น 20% แต่เป็นอัตราการเพิ่มขึ้นที่ไม่ได้ก้าวกระโดดอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมาตรการของ ธปท.ที่ให้สถาบันการเงินเร่งช่วยลูกค้าในการปรับโครงสร้างหนี้ ทำให้สถานการณ์รถยึดไม่ได้เพิ่มขึ้นจนน่ากังวลมากนัก อาจต้องรอประเมินสถานการณ์หลังจากเดือนพฤษภาคมนี้อีกครั้ง เนื่องจากการระบาดโควิด-19 ระลอก 3 เพิ่งจะเกิดขึ้น จึงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
แบงก์ตั้งสำรองเพิ่มรับ NPL
นายไพโรจน์ ชื่นครุฑ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านกลยุทธ์และวางแผนธุรกิจองค์กร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพรวมการจัดการเอ็นพีแอลของธนาคารในช่วงที่ผ่านมา ถือว่าทำได้ค่อนข้างดี โดยธนาคารมีการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญเพื่อรองรับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 ไว้พอสมควร ประกอบกับมาตรการผ่อนปรนของ ธปท. ช่วยให้การไหลของเอ็นพีแอลไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แม้ว่าจะมีทิศทางเพิ่มขึ้น แต่อยู่ในวิสัยที่บริหารจัดการได้ รวมถึงสถาบันการเงินแห่งอื่นเช่นกัน
สำหรับสถานการณ์การยึดทรัพย์ เช่น ที่อยู่อาศัย และรถยนต์จากลูกค้าไม่ได้เพิ่มขึ้นกว่าช่วงปกติมากนัก ซึ่งปัจจุบันสัดส่วนการยึดบ้านและยึดรถยังเป็นปกติ ส่วนหนึ่งเพราะธนาคารดูแลลูกค้าตั้งแต่ก่อนเป็นเอ็นพีแอล หากลูกค้าติดขัดสามารถขอรับความช่วยเหลือจากธนาคารได้
“ส่วนการบริหารจัดการหนี้เสียของธนาคารก็มีทั้งบริหารหนี้เองและตัดขายบางส่วน โดยที่ตัดขายจะเป็นกลุ่มที่ตามจนถึงที่สุดยังไม่ได้ ก็ตัดขายแม้ว่าจะได้ผลตอบแทนไม่เท่ากับบริหารจัดการเอง”
นายมาณพ เสงี่ยมบุตร รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากการระบาดโควิด-19 ระลอก 3 สร้างความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้า ธนาคารจึงยังคงนโยบายการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญไว้ในระดับที่เหมาะสม โดยปีที่ผ่านมาธนาคารได้ตั้งสำรองในระดับสูง สำหรับไตรมาส 1 ปีนี้ แม้ว่าจะลดลง แต่ถือว่าอยู่ในระดับที่รองรับหนี้เสียได้ ในแง่การจัดการพอร์ตเอ็นพีแอล ธนาคารจะเน้นดูจังหวะและโอกาส ความเหมาะสมของราคาสินทรัพย์ และการรักษามูลค่าในระยะยาว
“การบริหารเอ็นพีแอล เราดูตั้งแต่ก่อนลูกค้าจะเป็นหนี้เสีย โดยพยายามช่วยเหลือลูกค้าต่อเนื่อง เพราะเราคิดว่าโควิด ระลอก 3 กระทบลูกค้าพอสมควร และปีนี้เอ็นพีแอลก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เราจึงจะตั้งสำรองให้เพียงพอ”
KBANK ชะลอขายพอร์ตหนี้เสีย
แหล่งข่าวจากธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปีนี้ธนาคารมีการตัดขายหนี้ไปบางส่วน จากปี 2562 ตัดขายหนี้ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท และปี 2563 เฉลี่ยประมาณ 8,000 ล้านบาท แต่คาดว่าปีนี้จะมีการขายน้อยกว่า 8,000 ล้านบาท เนื่องจากยังอยู่ในวิสัยที่ธนาคารสามารถบริหารจัดการได้ แนวทางการบริหารจัดการหนี้เสียของธนาคาร จะมีตั้งแต่มาตรการอ่อนไปถึงแก่ เช่น มาตรการอ่อน เน้นเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ ขยายเทอม ลดอัตราดอกเบี้ยมากกว่าปกติ หรือลูกค้ามีปัญหาระดับกลาง จะใช้วิธีโอนหลักประกันมาชำระหนี้ และมาตรการเข้ม จะเป็นกลุ่มที่ไม่เอาอะไรเลย ก็ต้องดำเนินการคดีฟ้องร้อง อย่างไรก็ดี ในช่วงที่ผ่านมาลูกค้าที่ดำเนินการฟ้องร้องมีไม่มากนัก เนื่องจากธนาคารต้องการช่วยลูกค้าและไม่ได้ต้องการยึดหลักประกัน
NPL Q1/64 แตะ 5.37 แสน ล.
ขณะที่ล่าสุด นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงคุณภาพสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 1/2564 ว่า ยังคงได้รับผลจากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้และการผ่อนปรนเกณฑ์การจัดชั้นลูกหนี้ โดยยอดคงค้างสินเชื่อด้อยคุณภาพ (เอ็นพีแอล) เพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 5.37 แสนล้านบาท คิดเป็น 3.10% ของสินเชื่อ ภายใต้มาตรการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้และการผ่อนปรนเกณฑ์การจัดชั้นลูกหนี้จึงช่วยชะลอการเสื่อมคุณภาพลง แต่จากที่สินเชื่อมีการขยายตัว ส่งผลให้ NPL ratio ค่อนข้างทรงตัว โดยสิ้นปี 2563 เอ็นพีแอลของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบอยู่ที่ 5.23 แสนล้านบาท หรือ 3.12% ของสินเชื่อ
“แนวโน้มหนี้เสียเป็นสิ่งที่ ธปท. และธนาคารพาณิชย์กังวล โดยเฉพาะในเซ็กเตอร์ท่องเที่ยวที่น่าห่วง รวมถึงขนส่ง การบิน และที่เกี่ยวเนื่องกับร้านอาหาร แต่ก็เชื่อว่าหลักจากภาครัฐคลายเกณฑ์คุมโควิด-19 กิจการเหล่านี้ก็อาจกลับมาดีขึ้นได้” นางสาวสุวรรณีกล่าว
อ่านบทความและอื่น ๆ ( จับสัญญาณ “ยึดรถ-ยึดบ้าน” แบงก์ตั้งการ์ดรับมือหนี้เสียพุ่ง - ประชาชาติธุรกิจ )https://ift.tt/3oGskIF
บันเทิง
Bagikan Berita Ini
0 Response to "จับสัญญาณ “ยึดรถ-ยึดบ้าน” แบงก์ตั้งการ์ดรับมือหนี้เสียพุ่ง - ประชาชาติธุรกิจ"
Post a Comment