เผลอเพียงชั่วอึดใจเดียววงการฟลอร์บอลของไทยก็เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว เรากลายเป็นแชมป์ซีเกมส์ 2019 ในประเภททีมชาย และจากนั้นไม่ถึงปีเรากลายเป็นทีมที่สามารถเข้าไปแข่งขันในรายการชิงแชมป์โลกได้ไปเป็นที่เรียบร้อย
มีการกล่าวว่าคนไทยไม่เหมาะกับกีฬาอะไรที่เล่นเป็นทีม แต่ดูเหมือนว่าจะไม่ใช่สำหรับฟลอร์บอล กีฬาที่เราเริ่มรู้จักและทำทีมมาได้ไม่ถึง 10 ปี
การก้าวกระโดดที่เร็วเกินคาดเกิดขึ้นจากอะไร เหตุใดเราจึงกลายเป็นทีมที่ได้เข้าไปชิงแชมป์โลกมาเเล้วมากกว่า 1 ครั้ง ติดตามได้ที่ Main Stand
คู่แข่งน้อย โอกาสเยอะ
ประการแรกเราต้องมองภาพกว้างกันก่อนเลยว่าเหตุใดไทยจึงกลายเป็นทีมที่สามารถลงเเข่งขันในการชิงแชมป์โลกได้ในระยะเวลาอันสั้น
เหตุผลแรกที่ควรพิจารณาคือ "ฟลอร์บอล" เป็นกีฬาที่มีรากฐานมาจากกีฬา ฮอกกี้ กีฬาที่เป็นที่นิยมในประแถบตะวันตกโดยมีสหรัฐอเมริกา และ แคนาดา เป็นหัวหอกเบอร์ต้น ๆ ของโลก ซึ่งในลีกฮอกกี้ในอเมริกาและเเคนาดานั้นมีผู้เล่นอาชีพที่ทำเงินได้มากมายตามความนิยม
Photo : floorball.sport
สำหรับ ฟลอร์บอล เหมือนกับการย่อส่วน ฮอกกี้ ให้เล็กลง และทำให้เข้าถึงได้ง่ายกว่าเดิม โดยปกติเเล้วฮอกกี้นั้นมีข้อบังคับที่อาจจะปฏิบัติตามได้ยาก เช่นการจัดหาอุปกรณ์ที่มีต้นทุนสูงไม่ว่าจะเป็นไม้ฮอกกี้ สนามที่เป็นลานน้ำแข็ง และอุปกรณ์ป้องกันตัว เพราะด้วยความที่ฮอกกี้นั้นเป็นกีฬาที่เคลื่อนที่เร็วและมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย ทำให้ต้องใช้ทุนเยอะนั่นเอง
ฟลอร์บอล จึงเป็นกีฬาสำหรับผู้ที่จะหัดเล่น ฮอกกี้ เบื้องต้น มันเล่นได้ง่ายกว่าและใช้ต้นทุนในการเล่นน้อยกว่า จากจำนวนผู้เล่น ฮอกกี้ ที่ใช้ฝั่งละ 11 คน ฟลอร์บอล ก็ลดเหลือ 6 คนเท่านั้น
จากฮอกกี้ที่ต้องเล่นบนพื้นสเก็ตน้ำเเข็ง ฟลอร์บอล สามารถเล่นบนพื้นธรรมดาและใส่รองเท้ากีฬาได้ นั่นจึงทำให้ฟลอร์บอลปลอดภัยและต้องเจอแรงปะทะน้อยกว่านั่นเอง
Photo : floorball.sport
ด้วยความง่ายในการจัดหาทั้งคนเล่นและทุนทรัพย์ ฟลอร์บอล จึงกลายเป็นกีฬาที่เริ่มฮิตขึ้นมาหลังจากยุค 1950s โรงเรียนมัธยมในประเทศอเมริกาและเเคนาดาเริ่มบรรจุวิชาฟลอร์บอลลงในหลักสูตรวิชาพละ และจากนั้นก็ถูกส่งต่อไปยังประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย อย่าง ฟินแลนด์, นอร์เวย์, เดนมาร์ก และ สวีเดน
ซึ่งในแถบสแกนดิเนเวียนี่เองที่ฟลอร์บอลเป็นที่นิยมมากกว่าในรั้วโรงเรียน มีการแข่งขันชิงแชมป์ประเทศ จนกระทั่งในปี 1979 ฟลอร์บอลก็มีสโมสรอาชีพทีมแรกที่มีชื่อว่า Sala IBK เกิดขึ้น ต่อมาก็กลายเป็นลีกอาชีพในที่สุด
คุณจะได้เห็นว่า ฟลอร์บอล ถือเป็นกีฬาที่เพิ่งถือกำเนิดในฐานะกีฬาอาชีพได้ไม่นาน นั่นหมายความว่านอกจากประเทศในแถบสแกนดิเนเวียหรือเจ้าตำรับอย่างสหรัฐอเมริกาและแคนาดา ชาติต่าง ๆ ก็ยังไม่ได้ส่งเสริมกีฬาชนิดนี้มากนัก กว่าที่ ฟลอร์บอล จะมีการแข่งขันชิงแชมป์โลกอย่างเป็นทางการก็ต้องมาเริ่มในปี 1996 โน่นเลย แน่นอนว่าเจ้าภาพต้องเป็น สวีเดน ประเทศที่นิยมกีฬาชนิดนี้มากที่สุด
Photo : floorball.sport
จากปี 1996 จนถึงทุกวันนี้ ฟลอร์บอล ชิงแชมป์โลกในประเภททีมชายทั้งหมดมีเพียงแค่ 24 ชาติเท่านั้น และมีทีมที่เก่งกว่าชาติอื่น ๆ ชัดเจนไม่กี่ทีม อาทิ สวีเดน, ฟินแลนด์, เช็ก และ สวิตเซอร์แลนด์ โดยเฉพาะสวีเดนและฟินแลนด์นั้นผ่านการเข้าชิงชนะเลิศมาเเล้วถึง 12 ครั้ง และ 10 ครั้ง จากการจัดการแข่งขันทั้งหมด 13 ครั้ง
สิ่งนี้มันทำให้เราเห็นภาพว่านี่ไม่ใช่กีฬาที่มีคู่แข่งมากมายนัก แต่หลักใหญ่ใจความสำคัญคือหลังจากผ่านยุค 2000s มา เริ่มจะมีการผลักดันจากคณะกรรมการโอลิมปิกสากลให้ ฟลอร์บอล เข้ามาเป็นกีฬาสาธิตในการแข่งขันโอลิมปิก
คู่แข่งน้อย, ใช้แรงปะทะน้อย, กติกาไม่ได้เอื้อให้คนรูปร่างใหญ่, ใช้คนไม่มาก, ใช้ทุนไม่เยอะจนเกินไป และกำลังจะมีการชิงเหรียญทองในมหกรรมกีฬาใหญ่ ๆ อย่าง เอเชียนเกมส์ และ โอลิมปิก นั่นคือเหตุผลว่าทำไมประเทศไทยของเราจึงมองเห็นโอกาสสำคัญครั้งนี้ และเริ่มต้นสร้างทีมในช่วงราว ๆ ปี 2014-2015 เพื่อก้าวขึ้นมาเป็นทีมระดับโลกให้ได้
เหมาะกับคนไทย
หาก ฮอกกี้ คืออเมริกันฟุตบอลที่คนไทยยากจะเข้าถึงเเล้วล่ะก็ ฟลอร์บอล ก็คงเปรียบได้กับรักบี้ที่แม้จะดูคล้าย ๆ กัน แต่ถ้าลงในรายละเอียดนั้นคนไทยสามารถจับต้องได้ง่ายกว่าไม่ว่าจะมองในภาพรวมหรือจุดใด ๆ ก็ตาม
ประการแรกที่ ฟลอร์บอล เหมาะกับคนไทยคือเรื่องของกติกา ที่ไม่ได้ทำให้คนตัวใหญ่ได้เปรียบมากนัก มันต้องอาศัยความพริ้ว ทีมเวิร์ก และเทคนิคการเข้าทำเป็นอาวุธหลักในการโจมตี เพราะกติกาหลัก ๆ มีอยู่ว่า ห้าม ตบ บล็อก หรือเตะไม้ของผู้เล่นฝั่งตรงข้าม ห้ามเข้าปะทะหรือขัดขวางคู่ต่อสู้ ห้ามเล่นระดับเหนือเข่า เป็นต้น
Photo : floorball.sport
แม้กระทั่ง สเตฟาน ดาร์เกน โค้ชทีมฟลอร์บอลของไทยก็ยังยอมรับว่า ฟลอร์บอล เป็นกีฬาที่เหมาะกับสรีระของคนไทย เพราะคนไทยมีจุดเด่นที่ความคล่องตัว ซึ่งเป็นหัวใจของฟลอร์บอลที่ต้องใช้ความเร็วในการเข้าทำ บวกกับความใจสู้ไม่ยอมแพ้
นอกจากนี้ยังมีข้อสังเกตอีกว่ายิ่งเป็นกีฬาที่ผู้เล่นน้อยและเป็นกีฬาที่เล่นในร่ม ก็ดูเหมือนว่าไทยจะสามารถปรับตัวได้ดีมากกว่า พัฒนาได้เร็วกว่ากีฬาชนิดอื่น ๆ ยกตัวอย่างเช่น ฟุตซอล หรือ วอลเลย์บอล เป็นต้น
เมื่อทุกอย่างดูจะน่าสนใจ การนับ 1 ของไทยก็เริ่มขึ้น
แม้จะมีทีมเข้าแข่งขันน้อยแต่นี่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย อย่างที่หลายคนเข้าใจว่าประเทศเราไม่ได้มีรากฐานที่แข็งแกร่งนักในเรื่องฮอกกี้หรือกีฬาเมืองหนาวอื่น ๆ ดังนั้นการทำทีมให้ขยับขึ้นมาถึงขั้นชิงแชมป์โลกภายในเวลาเพียงอึดใจเดียว ถือเป็นสิ่งที่ต้องใช้ทั้งความมุ่งมั่น เทคนิค และการให้โอกาสอย่างจริงจังกับนักกีฬาไทยอีกด้วย
Photo : floorball.sport
จุดเริ่มต้นเกิดจาก สมาคมฮอกกี้แห่งประเทศไทย ที่เล็งเห็นเเนวทางของการแข่งขันฟลอร์บอลที่ตอบโจทย์มากหากหวังเหรียญรางวัลในการแข่งขันต่าง ๆ จึงมีการแยกหน่วยงานย่อยออกมา
การก่อตั้งทีม ฟลอร์บอล ช่วงแรก ๆ ของไทยก็ใช้นักกีฬาฮอกกี้ปรับมาเล่นทั้งชุด โดยเริ่มแข่งขันครั้งแรกในซีเกมส์ 2015 ที่ประเทศสิงคโปร์ โดยใช้เวลาเตรียมทีมเพียงแค่ 4 เดือนเท่านั้น โดยการจ้างโค้ชฟลอร์บอลระดับท็อป 10 ของโลกอย่าง จิมมี สคลิปส์นา เข้ามาฝึกสอน แล้วสามารถคว้าเหรียญเงินได้ซีเกมส์ครั้งนั้น
แม้จะเริ่มต้นได้ดี แต่ก็มีการเล็งเห็นว่าการนำนักกีฬาฮอกกี้มาปรับเล่นทั้งชุดไม่ใช่การสร้างทีมที่ยั่งยืน จากนั้นวงการฟลอร์บอลไทยจึงตัดสินใจก้าวไปอีกขั้นด้วยการ เริ่มสร้างทีมฟลอร์บอลโดยเฉพาะ โดยเริ่มตั้งแต่การเปลี่ยนผู้ฝึกสอนจาก สคลิปส์นา ที่มีค่าจ้างแพง มาเป็น สเตฟาน ดาร์เกน อดีตนักกีฬาฟลอร์บอลแถวหน้าของสิงคโปร์ ชาติที่ถือว่าเป็นเบอร์ 1 ด้านฟลอร์บอลในอาเซียน
จุดเด่นของ ดาร์เกน คือการเป็นโค้ชที่เข้าใจวัฒนธรรมการทำงานของคนไทยมากกว่า อีกทั้งยังมีจุดเด่นด้านการปลุกขวัญกำลังใจเป็นพิเศษ ซึ่งถือว่าเหมาะสำหรับนักกีฬาที่เริ่มนับ 1 กันใหม่อย่างนักกีฬาไทยในเวลานั้น
นอกจากการสร้างนักกีฬาใหม่แล้ว ยังมีการตามหานักกีฬาฟลอร์บอลในแถบสแกนดิเนเวีย ไม่ว่าจะเป็น สวีเดน หรือ ฟินแลนด์ ที่มีสัญชาติไทยทั้งนักกีฬาหญิงและชาย เพื่อให้กลับมาติดทีมชาติไทย ทุกอย่างจึงเป็นรูปเป็นร่างอย่างรวดเร็ว
Photo : floorball.sport
นีน่า ศุภปา นักกีฬาฟลอร์บอลหญิงระดับอาชีพในสวีเดน ที่ถูกติดต่อเข้ามาเล่นให้ทีมชาติไทยและเจ้าตัวก็ยินดีเป็นอย่างมาก ซึ่งจากบทสัมภาษณ์ของเธอที่ให้ไว้กับ Floorballworld.com ก็ได้ยืนยันชัดเจนว่าเป้าหมายในการเล่นให้ทีมชาติไทยคือ "การพาไทยปักหมุดบนเวทีฟลอร์บอลระดับโลก" ซึ่ง ณ เวลานั้นไทยยังสู้สิงคโปร์ไม่ได้เลยด้วยซ้ำ
นอกจากการสร้างทีมอย่างจริงจังด้วยการสเกาต์หานักกีฬาที่มีประสบการณ์และมีสัญชาติไทยในต่างแดนเเล้ว สิ่งที่ขาดไม่ได้คืองบประมาณในการทำทีมที่เป็นเหมือนสปริงบอร์ดสำหรับทีมฟลอร์บอลไทยอย่างแท้จริง เพราะมีหลายครั้งที่ก่อนลงแข่งทัวร์นาเมนต์อย่าง ซีเกมส์ หรือ ชิงแชมป์โลก ทีมนักกีฬาไทยจะได้บินไปเก็บตัวฝึกซ้อมกับสโมสรอาชีพในสวีเดน เป็นเวลาถึง 4 เดือนเต็ม ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่หาไม่ได้ หากยังมัวแต่ซ้อมอยู่ในประเทศไทยแน่นอน
การมองเห็นโอกาส การสร้างทีมจากพื้นฐาน และการเสริมด้วยนักกีฬาที่มีประสบการณ์ คือส่วนผสมที่ทำให้ฟลอร์บอลไทยเติบโตอย่างรวดเร็วในระดับทีมชาติ เราเข้าไปชิงแชมป์โลกมาเเล้วถึง 2 ครั้งในปี 2016 และ 2018 และทำผลงานดีที่สุดด้วยการเป็นอันดับที่ 14 ของโลกในประเภทชาย รวมถึงประเภทหญิงที่ล่าสุด จบที่อันดับที่ 15 ในศึกชิงแชมป์โลก 2021 ที่สวีเดนเป็นเจ้าภาพ ยังรวมไปถึงการเป็นแชมป์ซีเกมส์ด้วยการคว่ำสิงคโปร์ในซีเกมส์ครั้งล่าสุด และ ณ ตอนนี้ยังได้สิทธิ์เข้าไปแข่งชิงแชมป์โลกแบบจัดอันดับอีกครั้งเรียบร้อยแล้ว
ขณะที่ทีมหญิงก็เริ่มหายใจรดต้นคอสิงคโปร์ขึ้นทุกที โอกาสแพ้ชนะเกิดขึ้นได้เท่า ๆ กัน แตกต่างกับเมื่อก่อนที่สิงคโปร์ถือเป็นเต้ยที่ไม่มีใครกล้าเข้าไปท้าชิง
Photo : floorball.sport
นี่คือทิศทางของฟลอร์บอลไทยภายในระยะเวลาราว ๆ 5-6 ปีเท่านั้น ไม่แน่ว่าหากเรายังคงสร้างทีมต่อไปเรื่อย ๆ อย่างจริงจังเช่นนี้ ในวันหนึ่งหากโอลิมปิกบรรจุฟลอร์บอลให้เป็นการแข่งขันอย่างเป็นทางการขึ้นมา วันนั้นทีมชาติไทยก็อาจจะมีโอกาสท้าชิงเหรียญรางวัล และเป็นกีฬาความหวังของชาติเหมือนกับที่เทควันโดเคยทำได้มาแล้วก็เป็นได้
อ่านบทความและอื่น ๆ ( เริ่มยังไงเก่งตอนไหน ? : ทำไมฟลอร์บอลไทยจึงก้าวเป็นทีมระดับโลก - Sanook )https://ift.tt/3nxokei
กีฬา
Bagikan Berita Ini
0 Response to "เริ่มยังไงเก่งตอนไหน ? : ทำไมฟลอร์บอลไทยจึงก้าวเป็นทีมระดับโลก - Sanook"
Post a Comment