
ที่มาของภาพ, Getty Images
การแข่งขันฟุตบอลโลกถือเป็นมหกรรมที่แฟนบอลทั่วโลกให้ความสนใจในแง่ของเกมกีฬา ทว่าการแข่งขันที่จัดขึ้นในกาตาร์ครั้งนี้กลับเต็มไปด้วยประเด็นถกเถียงทางการเมือง
ก่อนหน้าฟุตบอลโลกที่กาตาร์จะเปิดฉากขึ้นไม่ถึง 2 สัปดาห์ คาลิด ซัลมาน ทูตฟุตบอลโลกของกาตาร์ได้ให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ของเยอรมนีว่า การรักคนเพศเดียวกันคือ "ความเสื่อมทางจิตใจ"
กรณีดังกล่าว บวกกับกระแสวิพากษ์วิจารณ์เรื่องสิทธิคนงาน เสรีภาพในการพูด ตลอดจนเรื่องสงครามยูเครน ได้นำไปสู่การตั้งคำถามถึงความเหมาะสมในการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันของกาตาร์ และทำให้ศึกบอลโลกครั้งนี้ถูกมองว่าเป็นการแข่งขันที่จุดประเด็นร้อนทางการเมืองมากที่สุดในประวัติศาสตร์การแข่งขันฟุตบอลโลก
สิทธิ LGBT

ที่มาของภาพ, Getty Images
พอล เอมานน์ ผู้ก่อตั้งกลุ่ม Kop Outs ซึ่งเป็นกลุ่มแฟนบอลผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBT+) ของสโมสรลิเวอร์พูล เคยได้รับเชิญจากคณะกรรมการผู้จัดฟุตบอลโลกให้เดินทางเยือนกาตาร์กับสามีของเขาในปี 2019
ความสัมพันธ์ระหว่างคนเพศเดียวกัน และการส่งเสริมความสัมพันธ์ลักษณะนี้ถือเป็นเรื่องผิดกฎหมายในกาตาร์ ซึ่งมีบทลงโทษตั้งแต่ปรับเงินไปจนถึงโทษประหารชีวิต
แม้ที่ผ่านมา ฝ่ายจัดการแข่งขันบอลโลกจะระบุว่า "ยินดีต้อนรับทุกคน" เข้าชมการแข่งขันฟุตบอลที่กาตาร์ โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติใด ๆ
แต่กรณีที่ทูตบอลโลกกาตาร์ออกมาแสดงความคิดเห็นเช่นนั้น ได้ดับความหวังของนายเอมานน์ ที่คิดว่ากาตาร์จะแก้ปัญหาการเลือกปฏิบัติต่อคนเพศต่าง ๆ ให้ดีขึ้น
"น่าเศร้าที่นับแต่ถูกกดดันให้สร้างความเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้ กาตาร์กลับเพิ่มการเลือกปฏิบัติต่อกลุ่ม LGBT+ มากขึ้น" เขากล่าว
ข่าวที่มีให้เห็นเพิ่มขึ้นเรื่องการจับกุมเกย์และใช้วิธีบำบัดแก้เพศวิถี (conversion therapy) นั้น ทำให้นายเอมานน์ล้มเลิกความคิดการเดินทางไปดูมหกรรมฟุตบอลโลกที่กาตาร์
"มันไม่มีเหตุผลที่จะคิดเรื่องการไปดูบอลโลกครั้งนี้ เพราะชัดเจนว่าทางการกาตาร์ยังคงปฏิบัติอย่างเลวร้ายต่อกลุ่ม LGBT+" เขาบอก
การประท้วงของนักเตะ

ที่มาของภาพ, Getty Images
นอกจากจะถูกวิพากษ์วิจารณ์จากนักการเมืองและกลุ่มเพื่อสิทธิมนุษยชนทั่วโลกแล้ว ยังมีกระแสต่อต้านจากตัวนักฟุตบอลเองที่ร่วมการแข่งขันในครั้งนี้
ทีมชาติเดนมาร์กประท้วงประเด็นอื้อฉาวต่าง ๆ ของกาตาร์ด้วยการสวมชุดแข่งที่แทบมองไม่เห็นสัญลักษณ์ประเทศและยี่ห้อของชุดแข่ง
ในขณะที่ก่อนหน้านี้กัปตันทีมต่าง ๆ เช่น อังกฤษ เวลส์ ฝรั่งเศส เยอรมนี เดนมาร์ก สวิตเซอร์แลนด์ และเบลเยียม ประกาศจะสวมปลอกแขน OneLove ที่มีสัญลักษณ์สายรุ้งเพื่อสนับสนุนความหลากหลายทางเพศ
แต่ล่าสุดทีมทั้งเจ็ดได้ตัดสินในไม่สวมปลอกแขนดังกล่าวแล้ว เนื่องจากผิดกฎของสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) ในเรื่องชุดแข่งขัน ซึ่งไม่อนุญาตให้สื่อถึงประเด็นทางสังคมที่มีความละเอียดอ่อน หรืออาจนำไปสู่ความแตกแยก
สิทธิคนงาน

ที่มาของภาพ, Getty Images
การละเมิดสิทธิคนงานก่อสร้างสนามแข่งฟุตบอลโลกของกาตาร์เป็นประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มายาวนาน
มุสตาฟา กาดรี ผู้ก่อตั้ง Equidem ที่ปรึกษาเรื่องสิทธิมนุษยชนและสิทธิแรงงาน ชี้ว่าเป็นเรื่องไม่ถูกต้องที่ฟีฟ่าระบุว่า การเรียกร้องเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องทางการเมือง และนักฟุตบอลที่เกี่ยวข้องจะถูกลงโทษ
ที่ผ่านมาทีมงาน Equidem ได้พูดคุยกับผู้ใช้แรงงานในกาตาร์จำนวนมาก ซึ่งรวมถึงผู้ก่อสร้างสนามแข่งขันฟุตบอลโลก และพบว่าคนงานเหล่านี้เผชิญกับความไม่เป็นธรรมมากมาย เช่น การจ่ายค่าธรรมเนียมให้ได้งานทำ การไม่ได้รับค่าจ้างตามสัญญา และการถูกบังคับให้ทำงานในสภาพอากาศร้อนที่อันตราย
รายงานบางฉบับระบุว่า นับแต่กาตาร์ได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดมหกรรมบอลโลกในปี 2010 มีแรงงานต่างด้าวที่เข้าไปทำงานที่นี่เสียชีวิตแล้วกว่า 6,000 คน
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลกาตาร์ระบุว่า ตัวเลขดังกล่าวสร้างความเข้าใจผิด เพราะมีแรงงานก่อสร้างสนามฟุตบอลโลกเสียชีวิตไป 37 คน ในจำนวนนี้มีเพียง 3 คนที่เสียชีวิตเนื่องจากการทำงาน
เจ้าภาพบอลโลกผู้อื้อฉาว
เสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องความไม่เปิดกว้างต่อกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ และการละเมิดสิทธิแรงงาน ทำให้เกิดคำถามถึงการตัดสินใจของฟีฟ่าในการเลือกให้กาตาร์เป็นเจ้าภาพมหกรรมฟุตบอลโลกครั้งนี้
กระบวนการคัดเลือกครั้งนี้ถูกวิจารณ์ว่ามีการทุจริตอย่างแพร่หลาย หลังจากมีการสอบสวนโดยคณะอัยการของสวิตเซอร์แลนด์ และกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐฯ ในปี 2015
กาตาร์ปฏิเสธข้อกล่าวหาเหล่านี้เสมอมา และการสอบสวนของฟีฟ่าในปี 2017 ก็สรุปว่าไม่มีความผิดตามที่ถูกกล่าวหา
ดร. เกรกอรี อิออนนิดิส นักกฎหมายกีฬาระหว่างประเทศระบุถึงสาเหตุที่ฟีฟ่าเลือกกาตาร์เป็นเจ้าภาพจัดฟุตบอลโลกครั้งนี้ว่าเพื่อส่งเสริมการเปลี่ยนแปลง เพราะมองว่าการให้โอกาสกาตาร์เปิดประเทศรับแฟนบอลชาวต่างชาติจะช่วยผลักดันให้กาตาร์เปิดรับมุมมองที่แตกต่างในเรื่องต่าง ๆ เช่น เสรีภาพส่วนบุคคล
แต่เสียงวิจารณ์ที่มีเพิ่มขึ้นเรื่องการละเมิดสิทธิกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ และคนงานทำให้หลายฝ่ายคิดว่าฟีฟ่าตัดสินใจผิดพลาด
ขับรัสเซียออกจากการแข่งขัน

ที่มาของภาพ, Getty Images
ประเด็นหนึ่งที่ฟีฟ่าได้รับเสียงชื่นชมจากประชาคมโลกคือการตัดสินใจขับรัสเซียออกจากการแข่งขัน
แม้จะไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะลงโทษตัดสิทธิทีมที่ทำผิดกฎการแข่งขัน แต่ถือเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นไม่บ่อยที่ทีมจะถูกห้ามลงแข่งด้วยความผิดที่ไม่เกี่ยวข้องกับเกมการแข่งขัน
ที่ผ่านมามีเพียงเยอรมนี และญี่ปุ่น ที่เผชิญบทลงโทษเดียวกันนี้ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และทีมแอฟริกาใต้ในช่วงที่มีการแบ่งแยกสีผิวในประเทศ
การขับรัสเซียมีขึ้นหลังจากทีมชาติโปแลนด์ สวีเดน และสาธารณรัฐเช็กประกาศไม่ร่วมแข่งขันรอบคัดเลือกกับรัสเซีย เพื่อประท้วงการทำสงครามรุกรานยูเครน
การปฏิรูป

ที่มาของภาพ, Getty Images
แม้จะเผชิญกระแสต่อต้านอย่างต่อเนื่อง แต่ทามีม บิน ฮามัด อัล ทานี เจ้าผู้ครองรัฐกาตาร์ ได้ตอบโต้เสียงวิจารณ์การเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกของกาตาร์ว่า "เป็นเวลาหลายทศวรรษมาแล้วที่ตะวันออกกลางต้องเผชิญการเลือกปฏิบัติ และข้าพเจ้าพบว่าการเลือกปฏิบัติเช่นนี้ส่วนใหญ่เกิดจากการที่ผู้คนไม่รู้จักพวกเรา และในบางกรณีปฏิเสธที่จะทำความรู้จักพวกเรา"
เขาอ้างว่ากระแสโจมตีที่รุนแรงเช่นนี้เป็นสิ่งที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อนในการเป็นเจ้าภาพจัดมหกรรมฟุตบอลโลกของประเทศอื่นที่อยู่ในภูมิภาคอื่น และเขารู้สึก "ภาคภูมิใจในการพัฒนา ปฏิรูป และความก้าวหน้า" ที่เกิดขึ้นในกาตาร์
แต่การประท้วงและเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่ยังคงดำเนินต่อเนื่องทั้งในและนอกสนามแข่ง ก็ทำให้ศึกฟุตบอลโลกครั้งนี้ถูกกล่าวถึงในเรื่องอื่นที่ไม่ใช่ประเด็นเกี่ยวกับฟุตบอลต่อไป
https://ift.tt/pOZ9RBz
กีฬา
Bagikan Berita Ini
0 Response to "ฟุตบอลโลก 2022 : นี่คือมหกรรมกีฬาที่จุดประเด็นร้อนทางการเมืองมากที่สุดในประวัติศาสตร์ ? - บีบีซีไทย"
Post a Comment