นอกจากนี้กกท.ยังอยู่ระหว่างเตรียมเปิดประมูลให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนพัฒนาสนามกีฬาแห่งชาติแห่งใหม่ และยกระดับสนามกีฬาแห่งชาติของไทย รวม 3 แห่ง มูลค่าการลงทุนไม่ต่ำกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท โดยจะเป็นการก่อสร้างสปอร์ต คอมเพล็กซ์ (Sport Complex) ใน 2 จังหวัด ได้แก่ สนามกีฬาแห่งชาติ ( National Stadium ) ในพื้นที่บางละมุง จ.ชลบุรี ในพื้นที่เมืองใหม่อีอีซี และบริเวณไม้ขาว จ.ภูเก็ต รวมถึงปรับปรุง (รีโนเวท) สนามกีฬาราชมังคลากีฬาสถาน กรุงเทพฯ ให้เป็นสนามกีฬาที่มีความทันสมัย หรือ ดิจิทัล สเตเดียม
สำหรับแผนการสร้าง “สปอร์ต คอมเพล็กซ์” ในพื้นที่ อีอีซี เป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ ซึ่งในขณะนี้ได้หารือกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ไว้แล้ว ว่าจะผลักดันให้อยู่ในเฟสแรกของการพัฒนาเมืองใหม่อีอีซี ที่จะยกระดับศูนย์ฝึกกีฬาภาคตะวันออกของกกท.ในพื้นที่บางละมุง จ.ชลบุรี ซึ่งมีพื้นที่อยู่ 200 กว่าไร่ เจรจากับทางอีอีซี ที่จะขอเพิ่มพื้นที่อีกประมาณ 1,200-1,800 ไร่ เพื่อให้ได้พื้นที่รวมเป็นประมาณ 1,500-2,000 ไร่ ในการสร้างสปอร์ต คอมเพล็กซ์ ซึ่งอีอีซี สามารถเวนคืนที่ดิน สำหรับการนำมาพัฒนาโครงการนี้ได้
ทั้งนี้ภายในสปอร์ต คอมเพล็กซ์แห่งนี้ จะประกอบไปด้วย สนามฟุตบอลขนาดใหญ่ จุได้ 8 หมื่นที่นั่ง มากกว่าสนามกีฬาราชมังคลากีฬาสถาน ที่จุได้เพียง 4 หมื่นที่นั่ง เพื่อให้มีศักยภาพรองรับการแข่งขันฟุตบอลโลกได้ ซึ่งจะเป็นเวโลโดรม (Velodromes) รองรับการแข่งขันได้ในหลายชนิดกีฬา และกีฬาใหม่ๆ อาทิ กีฬาขี่ม้า แข่งม้า และยังสามารถใช้ประโยชน์ได้ในแบบมัลติเพอร์เพิร์ส (Multipurpose) อย่างการจัดคอนเสิร์ต หรือ กิจกรรมต่างๆได้ด้วย มูลค่าการลงทุนอยู่ที่ 1 หมื่นล้านบาท โดยจะของบสนับสนุนจากรัฐบาลส่วนหนึ่ง และอีกส่วนเป็นการเปิดประมูลหาเอกชนเข้ามาร่วมลงทุน หรือ PPP
“การที่เราเลือกพื้นที่ตรงนี้ เพราะเดินทางสะดวก เป็นที่มีรถไฟฟ้าเชื่อมต่อในอนาคต ใกล้สนามบิน เพราะถ้ามีสนามกีฬาขนาดใหญ่ การเดินทางทั้งทางบก ทางราง ทางเครื่องบิน มีความสะดวก และพื้นที่ตรงนี้สามารถขยายเชื่อมกับกิจกรรมต่างๆในอีอีซีได้ ทำให้พื้นที่คึกคัก ซึ่งโครงการนี้ได้นำเสนอรมว.ท่องเที่ยวในเบื้องต้นแล้ว เตรียมจะนำเรื่องเข้าบอร์ดกกท.และเสนอครม.ต่อไป หากครม.เห็นชอบก็จะทำ EIA ศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และเปิดประมูลให้เอกชนมาร่วมลงทุนคาดว่าจะเป็นช่วงปี 2568 ใช้เวลาก่อสร้าง 2-3 ปีนี้ คาดว่าจะเป็นให้บริการได้ประมาณปี 2572” นายก้องศักด กล่าว
ขณะเดียวกันก็จะดำเนินการพัฒนาโครงการ “สปอร์ต คอมเพล็กซ์ ภูเก็ต” ในพื้นที่ 238 ไร่ติดทะเล บริเวณ ต.ไม้ขาว จ.ภูเก็ต โดยพื้นที่ดังกล่าวกรมธนารักษ์ได้มอบให้กระทรวงการท่องเที่ยวฯครอบครองมานานกว่า 10 ปีแล้ว แต่ในขณะนี้เมื่อรัฐบาลสนับสนุนการพัฒนาภูเก็ต เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว กกท.ก็มีโครงการจะพัฒนาให้พื้นที่สนามกีฬา รองรับได้ 2-3 หมื่นคน มีสนามฟุตบอล ลู่วิ่ง กรีฑา สระว่ายน้ำ อินดอร์สเตเดี้ยม มีศูนย์กีฬาทางนํ้า ทางทะเล มีบริการด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา รองรับการแข่งขันกีฬา และดึงดูดนักกีฬาจากทั่วโลกเข้ามาฝึกซ้อมและเก็บตัวรวมถึงหนีหนาวเข้ามาอยู่ในภูเก็ต
โครงการนี้เบื้องต้นใช้เงินลงทุนหลักพันล้านบาท โดยจะใช้แนวทางเปิดประมูลดึงภาคเอกชนมาร่วมลงทุน ซึ่งกกท.ยังจะต้องใช้เวลาจัดทำรายละเอียดโครงการให้แล้วเสร็จ ก่อนจะนำเสนอกระทรวงท่องเที่ยวฯเพื่อนำเสนอครม.ต่อไป ซึ่ง สปอร์ต คอมเพล็กซ์ ที่ภูเก็ต จะมีความโดดเด่นเรื่องกิจกรรมกีฬาทางน้ำ และยังสามารถใช้เป็นพื้นที่จัดคอนเสิร์ตและคอนเวนชั่นได้ด้วย
ขณะที่แผนปรับปรุงสนามกีฬาราชมังคลากีฬาสถาน กรุงเทพฯ กกท.อยู่ระหว่างเตรียมเปิดประมูลดึงเอกชนเข้ามาร่วมแปลงโฉมสนามกีฬาให้เป็นดิจิทัล สเตเดียม มีระบบรักษาความปลอดภัยระบบเข้า-ออกสนามมีความปลอดภัย รวดเร็วขึ้น การระบายคน การปรับปรุงห้องต่างๆให้ใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น โดยที่ความจุของสนามก็ยังคงอยู่ที่ 4 หมื่นคนเท่าเดิม เนื่องจากไม่สามารถจะขยายได้
การปรับปรุงคาดว่าจะใช้งบลงทุนหลักพันล้านบาท อาจจะถึงหลัก 5,000 ล้านบาทก็ได้ ขึ้นกับเอกชนว่าจะเสนอมาเท่าไหร่ รวมถึงเทคนิคทางวิศกรรมที่จะใช้ในการปรับปรุงครั้งใหญ่ ว่าอาจจะต้องเปิดหรือปิดสนามหรือไม่ ขึ้นอยู่กับเทคโนโลยีที่จะนำมาใช้ ซึ่งแผนการปรับปรุงครั้งใหญ่นี้กำลังจะเข้าบอร์ดกกท.พิจารณา รวมถึงจะต้องตั้งกรรมการขึ้นมาร่างทีโออาร์ กำหนดว่า การปรับปรุงขั้นต่ำต้องมีอะไรบ้าง ต้องปรับปรุงในเรื่องใดบ้าง เพื่อทำให้เป็นดิจิทัล สเตเดียม
การปรับปรุงครั้งใหญ่นี้จะไม่ใช้งบลงทุนของกกท. การลงทุนจะอยู่ที่การเปิดประมูลให้เอกชนเข้ามาเสนอตัว อีกทั้งในระหว่างนี้กกท.ก็จะดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ ของสนามราชมังคลา เช่น ห้องน้ำ และระบบสมาร์ท สเตเดียม ซึ่งกกท.ได้ยื่นของบสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กองทุนดีอี) ไว้แล้ว 200 ล้านบาท ก่อนเข้าสู่กระบวนการ Bidding ในปลายปีงบประมาณ 2568
“สนามกีฬาราชมังคลา เราให้ความสำคัญในการแข่งฟุตบอลก่อนเป็นอันดับแรก โดยให้การแข่งขันด้านกีฬาจองก่อน ถ้ามีว่าง ถึงจะจัดให้คอนเสิร์ตเข้ามาใช้ ซึ่งเราเก็บค่าเช่ามาก เก็บแค่ค่าน้ำค่าไฟ มีรายได้เล็กน้อย เพราะเห็นว่าการจัดคอนเสิร์ตจะทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ ซึ่งล่าสุดก็มีหลายคอนเสิร์ตจองพื้นที่เข้ามาจัดงานต่อเนื่อง”
นอกจากนี้กกท.อยู่ระหว่างการปรับปรุงสระว่ายน้ำ ภายในกกท. หัวหมาก รองรับการผลักดันให้ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาว่ายน้ำระดับโลก และมหกรรมกีฬาระดับโลกต่างๆ เช่น ล่าสุดเตรียมเป็นเจ้าภาพจัดงานเอเชียนอินดอร์มาร์เชียลอาตส์ เกมส์ หรือการแข่งขันกีฬาในร่ม และศิลปะการป้องกันตัว ในเดือนพ.ย.นี้ ส่วนปีหน้าไทยจะเป็นเจ้าภาพซีเกมส์ 2025 และในอนาคตก็จะเสนอตัวเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกเยาวชน หรือ Youth Olympic Games เป็นต้น กกท.จะร่วมมือกับสมาคมกีฬาต่างๆเสนอตัวดึงอีเว้นท์กีฬา เข้ามาจัดในไทย ที่ก็จะทำให้เกิดการใช้จ่ายในไทยเพิ่มขึ้น ควบคู่ไปกับการผลักดันให้ไทยเป็นสปอร์ต ฮับในภูมิภาคนี้
อ่านบทความและอื่น ๆ ( กกท.ดึงเอกชนทุ่ม 1.5 หมื่นล้าน ผุด Sport Complex ปรับโฉมครั้งใหญ่ราชมังคลา - ฐานเศรษฐกิจ )https://ift.tt/dyzk3OA
กีฬา
Bagikan Berita Ini
0 Response to "กกท.ดึงเอกชนทุ่ม 1.5 หมื่นล้าน ผุด Sport Complex ปรับโฉมครั้งใหญ่ราชมังคลา - ฐานเศรษฐกิจ"
Post a Comment