เปิดที่มา ทำไม "ฟอร์มูล่าวัน" กลายเป็นกีฬาแข่งขันรถระดับโลก ?

แบรด พิตต์ และ แดมสัน ไอดริส ที่สนามแข่งซิลเวอร์สโตนของสหราชอาณาจักร ระหว่างการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง “ฟอร์มูล่าวัน (Formula One)”

ที่มาของภาพ, Getty Image

  • Author, เจเรมี ฮาวเวลล์
  • Role, บีบีซีเวิลด์เซอร์วิส

“ฟอร์มูล่าวัน (Formula One)” เป็นหนึ่งในภาพยนตร์สารคดีของฮอลลีวูดที่ได้รับการคาดหวังมากที่สุด โดยมี แบรด พิตต์ และแดมสัน ไอดริส เป็นนักแสดงนำ กำหนดออกฉายวันที่ 27 ก.ค. ในปีหน้า (2025) ในโรงภาพยนตร์ทั่วโลก

เสียงตอบรับต่อกระแสภาพยนตร์เรื่องนี้ สะท้อนให้เห็นว่า รายการแข่งขันรถระดับโลกฟอร์มูลาวันหรือเอฟวัน (F1) หรือรถสูตรหนึ่ง ได้รับความนิยมไปทั่วโลกมากเพียงใด

มีผู้คนหลายร้อยล้านคนต่อปีรับชมการแข่งขันกรังด์ปรีซ์ (Grand Prix) ซึ่งจัดขึ้นใน 6 ทวีปทั่วโลก โดยรายการแข่งขันฟอร์มูล่าวันเป็นกีฬาแข่งขันความเร็วของยานยนต์หรือที่เรียกว่า "มอเตอร์สปอร์ต" (Motor sport) ที่เร็วที่สุด และนักแข่งระดับแชมเปี้ยนของรายการนี้ก็มีชื่อเสียงไปทั่วโลก

ฟอร์มูลาวันกลายเป็นมอเตอร์สปอร์ตที่เร็วที่สุดได้อย่างไร ?

นับตั้งแต่มีการจัดการแข่งขันเอฟวันกรังด์ปรีซ์เป็นครั้งแรก ที่สนามแข่งซิลเวอร์สโตนในสหราชอาณาจักรเมื่อปี 1950 รายการแข่งขันนี้ไต่อันดับขึ้นหัวแถวได้ ในฐานะประเภทการแข่งขันรถที่ทำความเร็วสูงที่สุด

ความเร็วสูงสุดของรถเอฟวันที่ถูกบันทึกไว้อยู่ที่ 378 กิโลเมตร/ชั่วโมง คู่แข่งที่สูสีที่สุดกับรายการเอฟวันในด้านความเร็วคือ รายการแข่งขันอินดี้คาร์ซีรีส์ (IndyCar Series) ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีบันทึกความเร็วสูงสุดอยู่ที่ 380 กิโลเมตร/ชั่วโมง

อย่างไรก็ตาม รถเอฟวันวิ่งเข้าโค้งได้เร็วกว่ารถอินดี้คาร์ ซึ่งทำให้วิ่งได้เร็วกว่าตลอดทั้งรอบ

แจ็ค แบร็บแฮม นักแข่งชาวออสเตรเลีย กับรถคูเปอร์ของเขาในสนามแข่งมอนซาของอิตาลีเมื่อปี 1959

ที่มาของภาพ, Getty Images

ในปีช่วงทศวรรษที่ 1950 รถเอฟวันมีความเร็วสูงสุดประมาณ 180 ไมล์ต่อชั่วโมง (289.68 กม./ชม.) โดยรถที่ทำความเร็วที่สุดในทศวรรษนั้นคือรถคูเปอร์ ที51 (Cooper T51) ที่มีนักแข่งชาวออสเตรเลีย แจ็ค แบร็บแฮมเป็นผู้ขับ โดยเขาเคยชนะการแข่งขันชิงแชมป์โลกในปี 1959

นี่เป็นรถเอฟวันคันแรกที่มีเครื่องยนต์อยู่ด้านหลัง ซึ่งส่งผลให้สองปีต่อมา ผู้ผลิตรถแข่งรายอื่นทุกรายพากันปฏิบัติตาม

ในปี 1966 ความเร็วรถเพิ่มขึ้นเพราะขนาดของเครื่องยนต์ที่ใหญ่ขึ้นเป็นสองเท่าจาก 220 แรงม้าเป็นมากกว่า 400 แรงม้า และต่อมาในปี 1968 ทางโลตัสผลิตรถยนต์ออกแบบใหม่ที่ปฏิวัติวงการรถแข่งโดยการเพิ่มปีกแอโรฟอยล์และสปอยเลอร์ ส่งผลให้รถทำความเร็วได้เกือบถึง 200 ไมล์ต่อชั่วโมง (321.87 กม./ชม.)

คุณสมบัติเหล่านี้เพิ่ม “แรงกด” ซึ่งหมายความว่า อากาศถูกผลักลงบนรถ ทำให้รถเกาะพื้นดีมากขึ้นและเข้าโค้งได้อย่างปลอดภัยด้วยความเร็วที่มากขึ้น

ปัจจุบัน ปีกและสปอยเลอร์กลายเป็นมาตรฐานในรถยนต์ทุกคัน เพื่อความปลอดภัย

ในช่วงทศวรรษที่ 1970 ขนาดเครื่องยนต์ที่เพิ่มขึ้นกว่า 1,000 แรงม้าและรถถูกสร้างขึ้นด้วยสเกิร์ตข้างเพื่อให้สามารถเกาะถนนได้ดีขึ้นและเข้าโค้งได้เร็วขึ้น โดยในปี 1978 รถโลตัส 78 ของมาริโอ อันเดรตติ สามารถทำความเร็วทะลุ 200 ไมล์ต่อชั่วโมง (321.81 กม./ชม.) ส่งผลให้ความเร็วรอบเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วด้วย

ในปี 1978 รถแบร็บแฮม บีที46บี (Brabham BT46B) ซึ่งเป็นรถเอฟวันคันหนึ่งได้ปรากฏตัวขึ้นโดยมีพัดลมติดตั้งอยู่ด้านหลังเพื่อยึดตัวรถให้เกาะพื้นได้ดีขึ้น ในเวลาต่อมาพบว่ารถคันดังกล่าวเอาชนะ นิกิ เลาดา นักแข่งชื่อดังด้วยระยะต่างมหาศาลในการแข่งขันรายการสวีเดนกรังด์ปรีซ์ แต่การออกแบบเช่นนี้ถูกแบนจากการแข่งขันทันทีหลังจากนั้น

ในช่วงปลายทศวรรษที่ 1960 รถฟอร์มูล่าวันได้รับการออกแบบใหม่ที่ปฏิวัติวงการ

ที่มาของภาพ, Getty Images

การเข้าแข่งขันฟอร์มูล่าวันมีค่าใช้จ่ายแพงแค่ไหน

แรงกดดันในการผลิตรถยนต์ที่เร็วขึ้นและตรงตามหลักอากาศพลศาสตร์มากขึ้น ทำให้เอฟวันเป็นธุรกิจที่มีราคาแพงมากสำหรับทีมที่ลงแข่งขัน

ในปี 2018 มีรายงานว่า ทีมเมอร์เซเดสใช้เงินไป 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 14,800 ล้านบาท) ต่อปี ในการพัฒนารถแข่ง และจ่ายค่าตัวให้กับนักขับ รวมถึงพาพวกเขาเข้าแข่งขันในรายการต่าง ๆ ทั่วโลก

ขณะนี้ ผู้บริหารของเอฟวันได้จำกัดค่าใช้จ่ายประจำปีสำหรับทีมแข่งในปี 2024 ไว้ที่ 135 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 4,995 ล้านบาท)

ฟอร์มูล่าได้รับความนิยมไปทั่วโลกได้อย่างไร

การแข่งขันกรังด์ปรีซ์จัดขึ้นครั้งแรกในฝรั่งเศสเมื่อปี 1906

ที่มาของภาพ, Getty Images

การแข่งขันรถเอฟวันเติบโตมาจากการแข่งขันที่จัดโดยชมรมยานยนต์ของฝรั่งเศส (The Automobile Club of France) โดยการแข่งขันครั้งแรกที่มีชื่อว่า กรังด์ปรีซ์ ถูกจัดขึ้นในปี 1906

องค์กรเอฟวันจัดตั้งขึ้นในปี 1946 และใส่คำว่า “ฟอร์มูล่า” (แปลว่าสูตร) เข้าไปในชื่อซึ่งหมายถึงชุดของกฎการแข่งขัน ส่วนคำว่า “วัน (One)” (แปลว่าหนึ่ง) คือหมวดหมู่สำหรับประเภทรถที่ทรงพลังมากที่สุด

การแข่งขันรถเอฟวันทั้งหมดจัดขึ้นในยุโรป จนกระทั่งปี 1953 ทางอาร์เจนตินาจึงได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน และในปี 1958 การแข่งขันกรังด์ปรีซ์จัดขึ้นในแอฟริกาเป็นครั้งแรกที่ประเทศโมร็อกโก

ต่อมาในปี 1976 เอฟวันจึงเข้ามายังเอเชียและเกิดการแข่งขันกรังด์ปรีซ์ที่ญี่ปุ่นขึ้น ขณะที่การแข่งขันเอฟวันครั้งแรกในภูมิภาคโอเชียเนียนั้นจัดขึ้นครั้งแรกในปี 1985 ที่ออสเตรเลีย

นับตั้งแต่เริ่มการแข่งขันรถเอฟวัน มีการจัดรายการการแข่งขันกรังด์ปรีซ์ได้ถูกจัดขึ้นใน 75 สนามแข่งของ 6 ทวีปทั่วโลก

เมื่อเร็วๆ นี้ รัฐในตะวันออกกลางมีความกระตือรือร้นอย่างมากที่จะสร้างสนามแข่ง เพื่อจัดการแข่งขันกรังด์ปรีซ์ ด้วยเป้าหมายเพิ่มชื่อเสียงในระดับนานาชาติและดึงดูดนักท่องเที่ยว

ขณะนี้มีสนามแข่งเอฟวันที่บาห์เรน กาตาร์ เมืองเจดดาห์ในซาอุดีอาระเบีย และกรุงอาบูดาบีในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ รวมถึงกรุงบากูของอาเซอร์ไบจาน

การแข่งขันกรังด์ปรีซ์ยังจัดขึ้นในกรุงเม็กซิโกซิตี้ของเม็กซิโก, สนามแข่งอินเตอร์ลากอสในบราซิล, นครเซี่ยงไฮ้ของจีน, สิงคโปร์, และกรุงบากูในอาเซอร์ไบจาน

ขณะที่สหรัฐฯ เป็นเจ้าภาพจัดงานแข่งขันกรังด์ปรีซ์ในเมืองลาสเวกัส, เมืองไมอามี, และเมืองออสติน นอกจากนี้ การแข่งขันเคยจัดขึ้นในสนามแข่งโซชิของรัสเซียด้วย แต่ถูกยกเลิกในปี 2022 ซึ่งเป็นช่วงที่รัสเซียบุกยูเครน

เอฟวันเป็นมอเตอร์สปอร์ตที่ใหญ่ที่สุดในโลกหรือไม่

การแข่งขันกรังด์ปรีซ์ดึงดูดผู้ชมหลายแสนคน

ที่มาของภาพ, Getty Images

ในแต่ละปี การแข่งขันรถเอฟวันทำรายได้ 3.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.25 แสนล้านบาท) ขณะที่เจ้าของรายการแข่งรถ นาสคาร์ (NASCAR) ซึ่งเป็นคู่แข่งทางธุรกิจที่สูสีกับเอฟวันได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่า พวกเขาจะทำรายได้ 1.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (66,000 ล้านบาท) ในปีต่อ ๆ ไป

นาสคาร์และอินดี้คาร์แตกต่างจากเอฟวันตรงที่ดึงดูดผู้ชมในสหรัฐฯ โดยเฉพาะ แต่เอฟวันมีแฟน ๆ ทั่วโลก โดยในปี 2021 มีรายงานว่า ยอดผู้ชมทางโทรทัศน์ทั่วโลกอยู่ที่ 1.5 พันล้านคน ขณะที่นาสคาร์มีผู้ชมในปี 2022 ที่ 114 ล้านคน

การถ่ายทอดสดการแข่งขันกรังด์ปรีซ์ของเอฟวัน ยังสามารถดึงดูดผู้ชมหลายแสนคนมาได้ด้วย

เดย์โทนา 500 ซึ่งเป็นงานที่ได้รับความนิยมสูงสุดของนาสคาร์ ดึงดูดผู้ชมได้ประมาณ 150,000-175,000 คน แต่การแข่งขันบริติชกรังด์ปรีซ์ในปี 2023 มีผู้เข้าชมมากกว่า 480,000 ในช่วงสุดสัปดาห์ของการแข่งขัน

ทางลิเบอร์ตีมีเดียซึ่งเป็นเจ้าของเอฟวันพยายามรุกเข้าสู่ตลาดสหรัฐฯ เพื่อช่วงชิงฐานผู้ชมจากนาสคาร์และอินดี้คาร์ด้วยเช่นกัน

สิ่งนี้อธิบายได้ว่าทำไมเกิดการจัดการแข่งขันกรังด์ปรีซ์ไม่น้อยกว่า 3 ครั้งในสหรัฐฯ เมื่อปี 2024 (จากทั้งหมด 24 รายการ) และเหตุใดจึงมีความร่วมมือกันเพื่อผลิตภาพยนตร์ฮอลลีวูดที่กำลังเข้าโรงในเร็ว ๆ นี้

ใครคือนักแข่งดาวเด่นที่สุดของฟอร์มูล่าวัน

มิคาเอล ชูมัคเกอร์ นักแข่งชาวเยอรมัน ชนะรางวัลชิงแชมป์ระดับโลกของเอฟวันติดต่อกันเป็นสมัยที่ 7

ที่มาของภาพ, Getty Images

นักแข่ง 2 คน ที่ชนะการแข่งขันชิงแชมป์โลกของเอฟวันมากที่สุดคือ มิคาเอล ชูมัคเกอร์ จากเยอรมนี และ ลูอิส แฮมิลตัน จากอังกฤษ โดยชูมัคเกอร์คว้าชัยชนะได้ถึง 7 สมัยในช่วงปี 1994-2004 ส่วนแฮมิงตันชนะ 7 ครั้งในช่วงปี 2008-2020

ขณะที่รัฐดูไบได้มอบเกาะเทียมนอกชายฝั่งที่มีบ้านหรูตั้งอยู่ เพื่อเป็นรางวัลสำหรับชัยชนะของชูมัคเกอร์ด้วย

ขณะที่แฮมิลตันร่วมผลิตภาพยนตร์เรื่อง ฟอร์มูล่าวัน ผ่านบริษัท ดอว์น อะพอลโล (Dawn Apollo) ของเขา

ไอร์ตัน เซนนา

ที่มาของภาพ, Getty Images

ในประวัติศาสตร์ของเอฟวันได้มีการจารึกเหตุโศกนาฏกรรมไว้ด้วยเช่นกัน เนื่องจากมีนักแข่ง 32 คนเสียชีวิตในการแข่งขันกรังด์ปรีซ์และรอบคัดเลือกด้วย

ในปี 1994 วงการแข่งรถระดับโลกต้องตกใจกับการเสียชีวิตของไอร์ตัน เซนนา นักแข่งชาวบราซิล ซึ่งคว้าแชมป์ระดับโลกได้ถึง 3 ครั้ง เขาเสียชีวิตจากอุบัติเหตุการแข่งขันกรังด์ปรีซ์ในนครเซาเปาโล ขณะที่กำลังนำในการแข่งขัน

ผู้เสียชีวิตรายล่าสุด คือ ฌูล บีย็องกี นักแข่งชาวฝรั่งเศส ซึ่งได้รับบาดเจ็บระหว่างการแข่งขันกรังด์ปรีซ์ที่ประเทศญี่ปุ่นเมื่อปี 2014 ก่อนจะจบชีวิตลงในวัย 25 ปี